Tuesday, February 5, 2008

สีที่(คุณคิดว่า)มีเพศ


สีชมพู ว้าย! เป็นผู้ชายใส่ได้ไง ความจริงสีชมพูเพิ่ง “กลาย” เป็นสีที่คนเชื่อมโยงถึงความเป็นสตรีเพศตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนหน้านั้นไม่นาน สีชมพูยังถือเป็นสีสำหรับบุรุษ (ถูกมองว่าเป็นสี “แดงอ่อน”) และคำว่า “pink” เพิ่งเริ่มมีใช้ในยุคศตวรรษที่สิบเจ็ด เมื่อถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ลัทธินาซีใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพูสื่อถึงเกย์ หรือชาวรักร่วมเพศ ซึ่งอาจเป็นที่มาของการเชื่อมโยงสีชมพูเข้ากับความเป็นเพศหญิง

สีฟ้าเป็นหนึ่งในแม่สี แต่เป็นสีที่หายากที่สุดในธรรมชาติ สมัยโบราณถูกเรียกเป็นสีดำชนิดหนึ่งจนถึงช่วงเวลาราวๆ 5,000 B.C. สีฟ้าเป็นสีที่มีความหมายและนัยยะหลากหลาย นอกจากเป็นสี “ผู้ชาย” สีฟ้ายังเป็นสีของความสดใสร่าเริง แต่ก็เป็นสีของความเศร้าหม่น (ในความหมายของภาษาอังกฤษ เช่น “the blues”, ดนตรีบลูส์) ปิกัสโซเคยมียุคงานจิตรกรรมสีฟ้า (”the Blue Period”) นักเขียนอเมริกัน วิลเลี่ยม แกสส์ (William Gass) เคยเขียนหนังสือความเรียงทั้งเล่มชื่อ On Being Blue ฯลฯ


แม้แต่สีก็มีนัยยะทางวัฒนธรรมและการเมืองที่คนสร้างขึ้นเอง และเปลี่ยนไปตามยุคสมัยทั้งนั้น เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆที่เรามักปักใจว่า “เป็นจริง” ทั้งๆที่มันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
(ป.ล. อ่านข้อมูลเรื่องสีชมพู/สีฟ้า จากนิตยสาร print ฉบับ July/August เดี๋ยวนี้นิตยสารเล่มนี้ดีขึ้นเยอะ หลังจากไม่ได้อ่านมานาน เป็นไปได้ว่้าเปลี่ยนทีมงานหรืออะไรสักอย่าง อาจจะเปลี่ยนมานานแล้วแต่คนอ่านเชยเอง)

^ บทความจาก typhoonkoon.wordpress.com

Sunday, February 3, 2008

วันที่ 1 มกราคม

วันที่ 1 มกราคม

แทบทุกวันที่ 1 มกราคม ผมมักได้ยินใครหลายคนเอ่ยว่า “นี่ฉันแก่ลงไปอีกปี” ราวกับว่า 1 มกราคมเป็นวันที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถทำให้คนเราแก่ลงไปได้ทันใด

ที่น่าแปลกก็คือผู้ที่เอ่ยประโยคนี้มักเป็นคนหนุ่มสาว
ที่แปลกกว่าก็คือคนที่พ้นวัยหนุ่มสาวมานานจำนวนมากกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น
ผู้หญิงบางคนบอกผมว่า “ผู้ชายมักไม่ค่อยกลัวความแก่ เพราะผู้ชายแก่ไม่เป็นไร ผู้หญิงแก่ไม่น่าดู”
ตรองดูแล้วก็ไม่รู้ว่านี่เป็นตรรกแบบใด เพราะไม่ว่าชายหรือหญิงก็ไม่อยากแก่ทั้งนั้น
ใครเล่าอยากจะมีรอยตีนกาเต็มหน้า ผิวย่น แรงน้อยลง ลงพุง สายตายาว ผมสีเทา ขี้ลืม จำชื่อคนผิดๆ ถูกๆ ?
หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ยังไม่ทันมีรอยตีนกาเต็มหน้า ผิวย่น ฯลฯ ก็รู้สึกแก่แล้ว
บางทีความแก่เกิดขึ้นที่ใจของเราก่อนในร่างกาย
และบางทีมนุษย์มีทางเลือกสองทาง จะแก่ทางกายอย่างเดียว หรือจะแก่ทั้งกายทั้งใจ

อิเหม่ยเป็นครูชาวจีนคนหนึ่ง บ้านของเธออยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เธอตั้งบล็อกสอนภาษาญี่ปุ่นฟรีแก่เด็กหนุ่มสาว อิเหม่ยมีลูกเล่นการสอนมากมาย บล็อกของเธอจึงมีคนมาเยือนมาก

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงจีนคนหนึ่งตั้งบล็อกสอนภาษาญี่ปุ่น ที่แปลกอาจเป็นเพราะเธออายุแปดสิบกว่าแล้ว
อิเหม่ยบอกว่าเธอชอบสอนคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ มันทำให้เธอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกคนหนุ่มสาว

“เมื่อฉันอยู่กับคนแก่ ฉันมักรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยอย่างใหญ่หลวง เพราะพวกเขามักมีทัศนคติแบบเก่าในการมองสิ่งต่างๆ และดูเหมือนจะหมดแล้วซึ่งแรงกระตุ้นความปรารถนาในชีวิต...”

อิเหม่ยบอกว่า “ใครบอกว่าคนแก่ต้องอยู่กับบ้านและนั่งเฉยๆ ฉันมักมีความอยากทำโน่นทำนี่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่นที่ยังมีความใฝ่ฝัน และพลังงานที่ฉันสามารถร่วมด้วย...

“ฉันมีชีวิตที่ยุ่งและมีความสุข ฉันรู้สึกว่าฉันเต็มไปด้วยพลัง”

อิเหม่ยมิใช่คนวัยเกินแปดสิบคนเดียวที่ยังไม่ยอมหยุดรอความตาย ผมเคยอ่านพบเรื่องราวของผู้หญิงแก่หลายคนเริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุแปดสิบ คุณตาคุณย่าคุณยายบางคนเล่นกอล์ฟและเต้นรำบอลรูม บางคนเริ่มเขียนหนังสือ บางคนเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย
คนเหล่านี้ไม่เชื่อว่า เมื่ออายุหกสิบก็จงเกษียณ อยู่บ้านเลี้ยงหลาน เข้าวัดเข้าวา และเตรียมตัวตาย
คนเหล่านี้เชื่อว่าชีวิตมีค่าเกินกว่าที่จะผ่านไปวันๆ
หลายคนยุ่งเสียจนเลือกที่จะนอนน้อยลง เพราะรู้สึกว่ายังมีเวลานอนอีกมากหลังจากหมดลมไปแล้ว
ชีวิตที่ดีไม่ใช่อยู่ที่ระยะเวลาที่ยาวกว่า มิได้อยู่ที่ปริมาณเงินตราที่มากกว่า แต่อยู่ที่คุณภาพ
มองโลกในแง่ดีจะพบว่าตัวเลขวัยที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่คำสาปแช่ง หากแต่เป็นคำอวยพร ทำให้ฉลาดขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น
แต่ความจริงก็คือไม่ทุกคนฉลาดขึ้นเมื่อวัยสูงขึ้น คนที่แก่อย่างมีคุณภาพคือคนที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง เป็นพวกชอบ ‘หาเรื่อง’ คือมีกิจกรรมให้ทำตลอดเวลา ไม่ยอม ‘แก่เพราะกินข้าว’
ส่วนการแก่ทั้งกายทั้งใจมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนแก่จริงๆ เท่านั้น คนหนุ่มสาวจำนวนมากก็ใช้ชีวิตแต่ละวันราวกับเป็นไม้ใกล้ฝั่ง เงื่องหงอย อ่อนแรง และคิดว่าตัวเองไร้ประโยชน์

ใช่! ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง คือการลอกคราบ จากวัยเด็กสู่วัยรุ่น สู่ผู้ใหญ่ สู่คนแก่ และจบที่ความตาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสภาพอีกครั้งหนึ่ง
ทัศนคติต่อความชรามีสองอย่าง หากเลือกที่จะมองแต่อดีต ก็เหมือนวิ่งไล่เงาตัวเอง โหยหาแต่สิ่งสวยงามในอดีตโดยปิดกั้นสิ่งใหม่ เป็นคนแก่ที่ชอบจมตัวเองอยู่กับอดีต
หากเลือกมองอนาคต ก็เช่นการเดินเข้าหาแสงสว่าง ทิ้งเงาของตนไว้ข้างหลัง ทุกวันคือความใหม่ ชีวิตที่เหลือคือโบนัส
จะเปลี่ยนจากดักแด้เป็นผีเสื้อ หรือจะเปลี่ยนจากผีเสื้อเป็นดักแด้ก็อยู่ที่ทัศนคติของเรา

แก่ก็เป็นอิสระได้
แก่ก็ ‘ยังก์ แอท ฮาร์ต’ ได้

เมื่อนั้นวันที่ 1 มกราคมก็ไม่มีความหมายที่น่ากลัว ตรงกันข้ามกลับทำให้เราสดชื่น อยากทำเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ

ทุกวันที่ 1 มกราคม คนที่ไม่รู้สึกแก่บอกว่า “ฉันได้กำไรชีวิตมาอีกตั้งปีหนึ่ง ชีวิตที่เหลือคือโบนัส ต้องใช้ให้สะใจไปเลย!”

วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
12 มกราคม 2551

ปล.นักเขียนอีกหนึ่งคนที่ผมโปรดปรานเป็นอีกหนึ่งบทความดีๆที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นบทความที่สามารถเก็บไว้อ่านได้ในทุกๆต้นปี(555)
ที่จริงแล้วตัวเลขที่บอกอายุอาจไม่มีความหมายใดเลยก็เป็นได้คนที่อายุเยอะแต่ยังแสวงหาสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์แก่ตนเองอยู่ตลอดอาจเปรียบเหมือนวัยรุ่นไฟแรงที่ยังต้องการสิ่งใหม่ๆให้กับตัวเอง แต่วัยรุ่นที่ใช้ชีวิตไปวันๆโดยที่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปอาจจะเปรียบเหมือนคนแก่ที่รอเวลาจะเลือนหายไปจากโลกนี้ก็เป็นได้
บางครั้งตื่นขึ้นมาเพียงได้อ่านบทความสั่นๆแค่เพียงหนึ่งบทความก็รู้สึกว่า อื่ม!วันนี้โชคดีจังที่ตื่นขึ้นมาแทนที่จะหลับต่อโดยที่ปล่อยเวลาห้ผ่านไปโดยที่ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย